โดยปกติเมื่อเขียนแบบแปลนสำหรับก่อสร้างอาคาร 1 ชุดจะประกอบไปด้วย แบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมงานระบบประปาและสุขาภิบาล และแบบวิศวกรรมงานระบบไฟฟ้าเป็นอย่างน้อย อาจมีแบบงานระบบอื่น ๆ งานตกแต่งภายใน งานตกแต่งทัศนียภาพภายนอกเพิ่มเติม แล้วแต่ความเหมาะสม ครั้งนี้เรามาลองอ่านแปลนกันว่ามีอะไรควรรู้บ้าง
แปลน เป็นรูปวาดที่แสดงวัตถุจากมุมมองด้านบน พูดง่ายๆคืออยากดูแปลนชั้นไหนก็ตัดครึ่งชั้นนั้นๆ ในแบบแปลนจึงแสดงเพียงขนาดต่างๆ ในแนวราบ โดยวาดตามสเกลที่ระบุ
เมื่อได้แปลนมาก็ต้องทำความเข้าใจกับสัญลักษณ์แทนความหมายต่างๆ ซึ่งเราจะแนะนำสัญลักษณ์เบื้องต้นที่นอกเหนือจากเสา ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ดังนี้
เส้นบอกระยะ (dimention) คือ เส้นบอกขนาดความกว้าง-ยาวของแต่ละห้อง ซึ่งเส้นแต่ละแบบก็บอกระยะต่างกัน เช่น เส้น dimention แบบเส้นตั้งและเส้นนอนตัดกัน มีวงกลมทับ ใช้บอกระยะจากศูนย์กลางถึงศูนย์กลาง มักใช้กับเสา บอกระยะห้องจากกลางเสาต้นแรกถึงกลางเสาต้นที่ 2 เป็นต้น
สัญลักษณ์รูปด้าน ถ้าหัวลูกศรหันเข้า หากันจะแสดงรูปด้านรวมภายนอกอาคาร ถ้าหัวลูกศรหันออกทุกทิศทางจะแสดงรูปด้านรวมภายในของห้อง ซึ่งทั้ง 2 แบบมักวางไว้ใกล้ชื่อแปลน หรือมุมขวาล่างของแปลน ส่วนตัวเลขในวงกลมแถวบน หมายถึงแต่ละด้านในแปลน แถวล่าง หมายถึง หน้าที่แสดงรูปด้านนั้นๆ
สัญลักษณ์รูปตัด แสดงแนวรูปตัดอาคารหรือแปลนนั้นๆ ตัวเลขข้างบนเป็นหมายเลขรูปตัด ตัวเลขข้างล่างเป็นหน้าที่แสดงรูปตัดนั้น จากตัวอย่างคือแสดงแนวตัดของ รูปตัด A-A และ รูปตัด B-B ซึ่งแสดงที่หน้า A-05
สัญลักษณ์บอกชื่อห้อง นอกจากชื่อห้องแล้วยังบอกอีกว่าพื้นห้องนั้นๆใช้วัสดุอะไร และอยู่สูงจากระดับพื้นตั้งต้นเท่าไหร่
ประตู และหน้าต่าง คือ สัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้เลยในการเขียนแปลนพื้น เพราะเวลาเราตัดครึ่งห้อง ย่อมต้องเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้
สัญลักษณ์ประตู ไม่จำเป็นต้องเป็นวงกลมเสมอไป อาจเป็นหกเหลี่ยม หรือสามเหลี่ยมก็ได้ ตัวเลขภายในอาจเป็นตัวเลขเดี่ยวๆ หรือมีตัวอักษร “D” หรือ “ป” แทรกอยู่หน้าตัวเลขก็ได้ เช่น D1, ป1 เพื่อบอกว่าประตูบานนั้นเป็นประตูลักษณะไหนซึ่งจะเห็นได้แบบขยาย (detail)
สัญลักษณ์หน้าต่างก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นหกเหลี่ยม และอาจมีตัวอักษร “W” หรือ “น” แทรกอยู่ข้างหน้าตัวเลขได้เช่นเดียวกับสัญลักษณ์ประตู
นอกจากสัญลักษณ์หลักๆ แล้วยังมี แบบขยาย (detail) ซึ่งเป็นแผ่นที่อยู่ท้ายๆเล่มแบบก่อสร้าง แสดงให้เห็นว่าประตูและหน้าต่างแต่ละเบอร์นั้นมีลักษณะอย่างไร
บันได เป็นสัญลักษณ์ที่ดูง่ายที่สุด เพราะเป็นเส้นขีดๆเป็นขั้นบันได ซึ่งเราสามารถนับจำนวนขั้นบันไดจริงๆได้จากในแปลน และรู้ความจากของบันไดได้จากเส้นบอกระยะ (dimention) ที่เขียนในแปลน ส่วนทางขึ้น-ลงจะมีคำว่า ‘ขึ้น (UP)’ หรือ ‘ลง (DN)’ พร้อมลูกศรบอกทิศทางการเดินกำกับอยู่เสมอ
เป็นอย่างไรกันบ้าง ได้อ่านและลองทำความเข้าใจกับสัญลักษณ์พื้นฐานเหล่านี้ดูแล้ว ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ สัญลักษณ์เหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยอ้างอิงตามมาตรฐานที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไป
ข้อมูลจาก
https://dsignsomething.com/
ไม่มีความคิดเห็น: